#ก่อนจะเกม EP.3: Take that เกมแกล้งกัน ใครแกล้งมาแกล้งกลับ … ไม่โกง

ก่อนจะเกม เนื้อหาเบื่องต้นสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นออกแบบบอร์ดเกม โดย Wizards of Learning

  • Take that เป็นเกมที่ไม่ใช่แค่แข่งให้ตัวเองชนะ แต่สามารถกดคนอื่นให้ห่างไกลชัยชนะขึ้นได้ด้วย
  • ความสนุกเกิดขึ้นจากการตีกัน แกล้งกัน แย่งกัน
  • มีความรู้สึกของการแข่งขันที่เข้มข้น ไม่เหมาะใช้สอนเด็ก และไม่เหมาะสำหรับคนรักสงบ

ขัดขา ดึงเก้าอี้ ตีแก้วน้ำ หลอกผี ซ่อนของ ดึงสายเสื้อใน

คนเราแกล้งกันเป็นปกติ ทั้งที่เป็นการกระทำที่ดูเหมือนเป็นการทำร้ายกัน และหลายครั้งก็นำมาซึ่งปัญหาทางสังคม แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องตลก การจะแอบดึงผมกันสักสองสามเส้นให้คันหัวเล่น ก็เป็นเรื่องสนุกในกลุ่มที่นำไปเล่นต่อๆ กันอย่างสนุกสนานได้

การแกล้งแบบไม่มีกติกา อาจเรียกว่าการ Bully ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความบันเทิงฝ่ายเดียว (หรือจริงๆ แล้วอาจจะไม่มีใครบันเทิงเลยก็ได้) และต้องมีฝ่ายหนึ่งทนทุกข์ใจเสมอ แต่ในอีกมุมที่น่าสนใจก็คือการแกล้งแบบมีกติกา การแกล้งประเภทที่ทุกฝ่ายตกลงกันไว้ก่อนว่าจะอนุญาตให้เกิดขึ้นได้ การแกล้งกันประเภทนี้จะถูกเรียกรวมว่าเป็นการละเล่นแบบหนึ่งที่ยอมรับได้ มีจุดเริ่มต้น และมีจุดจบ ในบอร์ดเกมก็มีลักษณะของการวางกลไกของกติกาแบบหนึ่ง ที่สนับสนุนให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้แกล้งกันอย่างเท่าเทียม ชื่อของมันก็คือ Take that

Take that คือ ?

Take that ที่เรากำลังจะพูดถึงไม่ใช่วงบอยแบนด์จากอังกฤษ แต่หมายถึงเกมประเภทที่มอบหมายภารกิจบางอย่าง โดยแบ่งให้ผู้เล่นอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันและกัน แต่การเล่นเกมประเภท take that ไม่เพียงแค่แข่งทำให้ตัวเองได้ดี แต่ยังสามารถกดคนอื่นให้ลงต่ำ ทำให้คนอื่นเกิดความสูญเสีย หรือขัดขวางกระบวนการที่จะผู้เล่นนั้นๆ ไปสู่ชัยชนะ สิ่งที่เกมอนุญาตให้ทำได้ เช่นการนำ การ์ด/ชิ้น ของผู้เล่นใดๆ ออกจากเกม หรือลดกำลังของบางสิ่งลง หรือแม้กระทั่งลดแต้มของผู้เล่นอื่น

Take that เป็นเกมสไตล์เผชิญหน้า ที่อนุญาตให้คุณก้าวร้าวเล่นๆ ใส่กันได้ สนุกกับการได้ตีกัน แย่งกัน แกล้งกัน ในหมู่เพื่อนฝูง เป็นความรู้สึกแบบเพลงพี่หนุ่ย ไมโครว่า “เอาไปเลย เอาไป เอาไปเอาไปได้เลย” (เก่ามาก แต่ละวงที่ยกตัวอย่าง)

สำหรับคุณครูที่ใช้เกมเป็นสื่อการเรียน การใช้ Mechanic นี้กับเด็กๆ อาจะไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก เพราะเกมแบบ Take that มีความรู้สึกของการแข่งขันที่เข้มข้น อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะในห้องเรียน และการเรียนรู้ผ่านการยื้อแย่งทำลายกัน ก็ดูไม่เป็นภาพของการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์เท่าไหร่

การใช้ Take that เป็นกลไกหลักของเกมเลย อาจจะยาก และไม่ดีเท่ากับการใช้เสริมกับกลไกอื่นๆ ของเกม โดยการใช้กลไกอื่นเป็นภารกิจหลัก แล้วมี Take that เป็นตัวเลือกเสริมที่สามารถทำเพื่อนขัดขวางซึ่งกันและกันได้

เกมแนวนี้ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นสายสงบสุข เล่นเกมแล้วไม่อยากถูกขัดขวาง ถูกแกล้ง หรือแกล้งคนอื่น อาจจะทำให้หงุดหงิด เสียอารมณ์ หรือเสียความรู้สึกเปล่าๆ

ตัวอย่างของเกมแบบ Take that

ยกตัวอย่างเกมที่มี Take that เป็นกลไก เช่น ในเกม Uno เราแข่งกันทำให้ไพ่หมดมือ แต่เราสามารถแกล้งกันได้โดยการ ทำให้คนอื่นต้องจั่ว 2,3,4  หรือข้ามตา นั่นทำให้คนอื่นๆ เข้าใกล้จุดหมายช้าลง ความสนุกของเกมก็จะอยู่ที่การคอยขัดขากันและ ยื้อยุดไม่ให้คนอื่นเข้าเส้นชัย ในขณะที่ตัวเองพยายามไปสู่ชัยชนะให้ได้

แต่ตัวอย่างของเกมที่แข่งขันกัน ขัดขวางกัน (นิดหน่อย) แต่ไม่ใช่ Take that ก็คือไพ่สลาฟ ในเกมสลาฟเราแข่งกันให้ไพ่หมดมือเร็วที่สุดเหมือนกัน เราอาจขัดขวางผู้เล่นคนอื่นด้วยการลงไพ่สูง แล้วทำให้ผู้เล่นอื่นๆ ลงไม่ได้ในรอบนั้น แต่นั่นไม่ใช่การโจมตีผู้เล่นโดยตรง เพราะไม่ได้ทำให้ผู้เล่นคนอื่นๆ ได้ไพ่เพิ่ม แต่เป็นการใช้ธรรมชาติของเกมในการสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองให้มากกว่าคนอื่นแทน

ถ้าลองเพิ่ม Take that เข้าไปในเกมทั่วไป จะเป็นยังไงกันนะ !?

ข้อเสียเกมแบบ Take that นั้นอาจจะสร้างอารมณ์ของความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้ในหมู่ผู้เล่น แต่ข้อดีนั้นก็แฝงอยู่ในประโยคที่ว่า เพราะแม้แต่อารมณ์ของความขัดแย้งก็ยังเป็นอารมณ์ และการเพิ่มอารมณ์ให้เกิดขึ้นในวงจะมีประโยชน์มากๆ สำหรับในเกมบางประเภท หรือในกลุ่มผู้เล่นบางกลุ่มที่ขาดแคลนปฏิสัมพันธ์ เช่น ผู้เล่นที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การใส่ Take that เข้าไปในเกมหรือกิจกรรมจะทำให้ผู้เล่นได้พูดคุย ได้รู้สึกร่วม ได้หยอกล้อกัน เหมาะอย่างยิ่งในการเป็นกิจกรรมละลายกำแพง และสร้างบรรยากาศผ่อนคลายในหมู่ผู้เล่น

เราเลยทำตัวอย่างขึ้นมา เผื่อในกิจกรรมไหนที่ขาดการมีส่วนร่วม ต้องการใช้การแกล้งกันเล็กๆ ไปเป็นเครื่องมือ สามารถหยิบเทคนิคนี้ไปใช้ได้ครับ

ตรงนี้เรามีการ์ดความสามารถพิเศษอยู่ 9 ใบ วิธีใช้ก็คือ เวลาจะเล่นเกมอะไรก็ตาม ให้แจกการ์ดเหล่านี้ให้ผู้เล่นแต่ละคน คนละใบ (หรือมากกว่านั้นถ้าสามารถทำได้) ระหว่างเล่นเกม ผู้เล่นสามารถหยิบการ์ดความสามารถขึ้นมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อใช้ครั้งหนึ่ง ก็ให้ทิ้งการ์ดใบนั้นๆ ไป

หมายเหตุ
– การ์ดบางใบอาจจะใช้ไม่ได้ในบางเกม ให้นำออกจากตัวเลือกได้เลย
– เมื่อเพิ่มกลไกนี้เข้าไปแล้ว อาจจะทำให้เกมที่เล่นอยู่เสียสมดุลก็ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นความสนุกของการได้ทดลอง

10 เกมแบบ Take that

เรามี 10 เกมที่ใช้ Take that เป็นกลไกลได้อย่างน่าสนใจ ทุกคนสามารถไปลองเล่นที่ร้าน หรือจะซื้อมาลองเล่นที่บ้านก็ได้นะ !

  1. King of Tokyo

2. Munchkin

Image result for munchkin board game component

3. Exploding kitten

Image result for exploding kittens board game

4. Lords of Waterdeep

Image result for lord of waterdeep

5. Coup

Image result for coup board game

6. Ca$h ‘n Guns

Image result for Ca$h ‘n Guns Bang!

7. Android: Netrunner

Image result for Android: Netrunner

8. Baseball Highlights: 2045

Image result for baseball highlights 2045

9. Smash Up

Image result for smash up board game

และสุดท้าย Box of Cats เกมแนว Take that ของทาง Wizard of learning นั่นเอง!

No Comments

Post A Comment