#เปิดกล่อง ส่องประเด็น BOX 7: Deadline

ในการทำโปรเจ็คต์ที่ต้องทำความคิดตั้งต้นให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้และใช้งานได้จริงอย่างเช่นบอร์ดเกมนั้น จะมีระยะเวลาที่จำกัดกำกับอยู่เสมอ การบริหารให้งานทั้งหมดออกมาทันการนั้นจึงเป็นขั้นตอนที่ขาดไม่ได้ในการทำบอร์ดเกม เพราะแน่นอน นักออกแบบทุกคนย่อมเฝ้ารอวันที่ผลงานของตนจะออกมาเสร็จสมบูรณ์และได้เฉิดฉายอยู่ในโลกความเป็นจริง ในบทความนี้เราจึงนำกระบวนการวางแผนจัดการการทำงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ก่อนที่ deadline จะมาถึงมาให้ทุกคนได้เห็นกัน

ทีมงาน Wizards of Learning ตกตะกอนประเด็นเกี่ยวกับการออกแบบเกมไว้ 15 ประเด็นด้วยกันสำหรับนิทรรศการที่งาน Thai Board Game Creators ที่ TCDC โดยจับประเด็นจัดแสดงลงในกล่องให้ผู้เข้าชมได้ลองเปิดเล่นสำรวจความสนุกและสาระดู เราจะมาขยายความประเด็นในแต่ละกล่องและเรียบเรียงเป็นบทความย่อยง่ายให้ทุกคนได้อ่านกัน ในบทความนี้เราขอเสนอ “Deadline”

ภาพฝันวันผลงานเสร็จ

ความดีใจแรกในการได้ทำโปรเจ็คต์บอร์ดเกมคงจะเป็นความตื่นเต้นที่จะได้ออกเดินทางไปในการพัฒนาเกมกล่องหนึ่งขึ้น และความยินดีระคนสงสัยว่าที่ปลายทางของเรา ภาพเกมสุดท้ายจะเป็นอย่างไร นักออกแบบทุกคนคงอยากให้ผลงานออกมาตรงจุดประสงค์ ใช้งานได้จริง และมีคุณภาพมาตรฐาน ด้วยภาพฝันปลายทางที่สวยงามนี้ เราจึงต้องบริหารจัดการกระบวนการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากวันเริ่มงานไปจนถึงวันส่งงาน จากประสบการณ์ทำงานออกแบบบอร์ดเกมอันยาวนานของ Wizards เราขอเสนอตุ๊กตากรอบการจัดการทำงานภายใน 6 เดือนโดยสังเขป ซึ่งโมเดลนี้ที่ยกมาจะเป็นกรอบการทำงานในการออกแบบเกมเพื่อการศึกษา และนำเสนอวิธีการทำงานของเราเท่านั้น เนื่องจากจริง ๆ แล้วแนวทางการทำงานของนักออกแบบแต่ละคนแตกต่างกัน ถ้าพร้อมแล้วมาสำรวจพร้อมกันได้เลย!

คุณคิดว่าเวลา 6 เดือนมากพอที่จะทำบอร์ดเกมได้ไหม ?

มาดูกันว่ามีอะไรที่จะต้องทำบ้างในระหว่าง 6 เดือนนี้

เดือนที่ 1 สรุปแนวทางและเป้าหมายเกม

Content + Research

ไอเดียเริ่มต้นที่ขมุกขมัวและเป็นแนวคิดกว้าง ๆ จะต้องถูกจัดการด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อค่อย ๆ ขมวดเข้าไปสู่แนวทางที่จะตอบโจทย์ของการทำเกม

  • วางแผนการออกแบบ
  • รวบรวมข้อมูลเนื้อหาและความต้องการของลูกค้า
  • ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็น
  • หา idea ตั้งต้น
  • จัด focus group ค้นหา insight ในประเด็นที่ทำ
  • ใช้อุปกรณ์เท่าที่มีอยู่นำมาผสมเพื่อดูความเป็นไปได้ในการสื่อสาร idea ในแบบต่าง ๆ

เดือนที่ 2 แปลงข้อมูลให้เป็นเกม

เราเริ่มต้นขั้นตอนนี้ด้วยข้อมูลมหาศาลจากเดือนแรก ซึ่งจะถูกนำมาคัดกรองประมวลผล และตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อที่จะได้นำมาเป็นไอเดียเกมและต้นแบบเกมในช่วงนี้

  • คัดเลือกเนื้อหาที่ควรมีอยู่ในเกมจริง ๆ
  • ค้นหาความสนุกของเนื้อหา ทำ prototype ของเกมที่สามารถเล่นได้
  • มองหาความเป็นไปได้ด้านอื่น ๆ เพื่อพัฒนาเกมให้ตรงจุดมากขึ้น
  • ตรวจสอบเนื้อหากับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ
  • ทดสอบเกมกับผู้เชี่ยวชาญด้านบอร์ดเกม

* ความล่าช้าเกิดขึ้นได้จากการนัดหมายผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ และความซับซ้อนของข้อมูล

เดือนที่ 3 ทดสอบต้นแบบเกมอย่างบ้าคลั่ง

เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ดีที่สุด ต้นแบบเกมที่เราขึ้นต้นไว้ในเดือนที่แล้วต้องถูกนำมาปรับแก้กันภายในทีมอย่างหนักหน่วง นอกจากนี้ยังต้องมีการเริ่มเตรียมการเรื่ององค์ประกอบในชิ้นงานจริงของเกม ไม่ว่าจะเป็นงานภาพและอุปกรณ์ต่าง ๆ

  • ทดสอบเกมอย่างบ้าคลั่งกับทีมงาน
  • พัฒนารูปแบบการเล่น ปรับแก้ prototype ไม่รู้จบ
  • เริ่มออกแบบงานศิลป์ (Icon + Layout)
  • สรุปรูปแบบการเล่นของบอร์ดเกม
  • สรุปรายการอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในเกม
  • เริ่มงานทำภาพประกอบ หา Artist มาช่วยจัดการส่วนนี้ (Brief + Reference)

* ความล่าช้าเกิดขึ้นได้จากการเตรียมการจัดทดสอบ เช่น สถานการณ์ covid-19

เดือนที่ 4 ประกอบร่าง…สร้างเกม

การปรับแก้ในช่วงนี้จะนำต้นแบบเกมที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เน้นความสวยงามมาค่อย ๆ ปรับเป็นชิ้นส่วนที่มีหน้าตาใกล้เคียงตัวจริงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ละทิ้งความถูกต้องในเนื้อหาและความสนุกในเกม นอกจากนี้ยังมีการทำส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จะอยู่ในกล่องเกมจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคู่มือ การจัดวางภาพและสัญลักษณ์

  • ประสานงานจัดกิจกรรมทดสอบเกมกับกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง
  • ส่งให้ Game Master ทดสอบเกมกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ปรับแก้อุปกรณ์เกม ให้มีหน้าตาใกล้เคียงตัวจริงขึ้นเรื่อย ๆ
  • พิมพ์ Prototype หน้าตาดีไปเช็คเรตติ้ง
  • ร่างแบบคู่มือของเกม
  • ปรับแก้รายละเอียดที่ไม่สนุก
  • ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญว่าเนื้อหายังถูกต้องอยู่หรือไม่
  • จัดวางภาพประกอบและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในเกม
  • Final draft ของงานภาพดังนี้ : ภาพประกอบ, components, หน้ากล่องเกม
  • ตรวจสอบกับลูกค้า

เดือนที่ 5 Mission Imposible

ไม่มีที่ว่างให้ความผิดพลาด

นี่คือมหากาพย์การตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดในส่วนใด ๆ ก็ตามเกิดขึ้น อันประกอบไปด้วยรายการดังนี้

  • Blind testing ทดสอบ Visual และความเข้าใจ โดยส่ง prototype และคู่มือเกมให้กลุ่มเป้าหมายเล่นเอง
  • ประสานงานจัดกิจกรรมเพื่อทดสอบเกม
  • ติดต่อโรงพิมพ์ ส่งรายละเอียดงานเพื่อประเมินราคา
  • ส่วนประกอบแต่ละส่วนต้องแยกติดต่อหลายโรงงาน กระดาษ / ไม้ / ผ้า / 3D
  • เตรียมข้อมูลเพื่อทำวิดีโอสอนเล่นเกม
  • ตรวจสอบ – แก้ไขเนื้อหา
  • ตรวจสอบ – แก้ไขตัวสะกด
  • ตรวจสอบ – แก้ไข Graphic
  • สรุปและตรวจทานคู่มือเกม
  • สรุปเสปคการผลิตของเกมทั้งหมด ให้อยู่ภายใต้งบประมาณของลูกค้า
  • นำตัวอย่างชิ้นงานไปอธิบายกับโรงพิมพ์ให้เข้าใจการผลิต
  • ประชาสัมพันธ์ให้เกมเป็นที่รู้จัก

* ความล่าช้าเกิดขึ้นได้จากการจัดทดสอบ และการปรับเสปคต่าง ๆ

เดือนที่ 6 ฐานยิงจรวด…ส่งเกมไปให้ไกลที่สุด

งานช่วงสุดท้ายจะเน้นไปที่การผลิตและการส่งต่อเกมไปให้ถึงมือผู้ใช้งาน ซึ่งจะทำได้ผ่านรายการนี้

  • ประกอบ mock-up ขึ้นมาเพื่ออ้างอิงการผลิต
  • ตรวจสอบคุณภาพของต้นแบบจากโรงพิมพ์
  • ประสานงานผลิตจำนวนมากสรุปรายละเอียดการผลิต
  • ประชาสัมพันธ์ตัวเกมอย่างต่อเนื่องในทุกช่องทางที่วางแผนไว้
  • ตามไฟล์ Logo ทุกหน่วยงานที่เกียวข้อง
  • แก้ไขวิดีโอสอนเล่นครั้งสุดท้าย
  • Proofread ล้านรอบ ทุกจุดในเกมต้องไม่มีคำผิด
  • วางแผนการกระจายเกมที่จะผลิตให้ได้ตามเป้าหมายของลูกค้า
  • เขียนรายงานสรุป feedback ทั้งหมดจากการทดสอบที่ผ่านมา
  • ประสานงานการจัดอบรมการใช้เกมเรียนรู้ หรือจัดเล่นแข่งขัน

Deadline !!! จบ…ไม่จริง !!

เมื่อเส้นตายมาถึง เราขออวยพรให้ไม่มีข้อผิดพลาดในระหว่างเดือนที่ 1-6

ควันหลงแม้เมื่อวันส่งงานมาถึงแล้วอาจมีดังนี้

  • แก้ปัญหาสำหรับการกระจายเกมและการขนส่งที่อาจจะเกิดขึ้น
  • ตรวจสอบความเรียบร้อยของเกม หรือประกอบส่วนที่มาจากคนละโรงงานให้เรียบร้อยทั้งหมด
  • ซัพพอร์ตผู้เล่นที่เล่นเกมแล้วเกิดปัญหาที่อาจจะไม่ได้คาดคิดไว้

ผลพวงจากหยาดเหงื่อแรงงาน

จะเห็นได้ว่าในเวลาที่จำกัดนั้น ทักษะการบริหารจัดการเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลงานให้ออกมาเสร็จสมบูรณ์และได้เฉิดฉายอยู่ในโลกความเป็นจริง ระหว่างทางมีการทำงานร่วมมือกับคนจำนวนมาก และมีหลายขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลาในการทำที่ต่างกัน ชิ้นส่วนที่หลากหลายในกระบวนการเหล่านี้จะเป็นต้องถูกจัดลำดับประเด็นในการทำงาน เพื่อให้ออกมาเป็นผลงานบอร์ดเกมที่ตอบโจทย์ ใช้งานได้จริง และมีคุณภาพมาตรฐาน

หากสนใจประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมในการออกแบบเกม ไปดูงานเต็มของ Wizards of Learning กันได้ที่ TCDC ชั้น 5 และหากใครสนใจเรื่องอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารจัดการเวลาในการทำบอร์ดเกมเขียนไว้ในคอมเมนต์นี้กันได้เลย

No Comments

Post A Comment