WATER JOURNEY เมื่อองค์กรสื่อสาร Brand ผ่านบอร์ดเกม


Water Journey ได้ถูกผลิตออกมาอวดโฉมกันสักระยะแล้ว วันนี้อยากจะให้ชวนเพื่อนๆ มารู้จักกับองค์กร ที่ทำบอร์ดเกมชิ้นนี้ขึ้นมากับ Wizards of Learning นั่นก็คือบริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำธุรกิจครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี จึงมีการเฉลิมฉลองในรูปแบบคืนสู่สังคม ทีมจึงเลือก ‘บอร์ดเกม เป็นสื่อกลางที่สื่อสารความเป็นตัวเองออกไป ให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องน้ำในหลายๆ แง่มุมดูบ้าง งั้นเรามาฟังมุมมองขององค์กรที่ลองก้าวเข้ามาในสนามของการบอร์ดเกมกันดูบ้างว่าจะเป็นอย่างไร พวกเขาถึงกับเอ่ยปากว่า

“ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แถมได้ทำอะไรใหม่ๆ อีกด้วย

Water Journey นับเป็นหนึ่งในบอร์ดเกมที่ทาง Wizards of Learning อยากนำเสนอให้ทุกคนได้รู้จัก วันนี้ไม่ได้มาสอนวิธีเล่นแต่อย่างใด แต่! เราชวนตัวแทนจากบริษัท ส.นภา (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ SN Group  คุณมิ้ม – สุทธิพัณ พิศาลบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจองค์กร และทีมงาน คุณมี่ – วิรินธร สุธาวุฒิไกร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนธุรกิจและกลยุทธ์ และคุณลูกแก้ว – จันทร์เพ็ญ เภาสุบรรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กร ผู้ร่วมเดินทางคนสำคัญในการผลิตบอร์ดเกมชิ้นดังกล่าวขึ้นมา ผ่านการพูดคุยกันอย่างสบายๆ ว่าทำไมบริษัทถึงอยากจัดทำบอร์ดเกมชิ้นนี้ขึ้น การทำงานร่วมกับ Wizards of Learning เป็นอย่างไรบ้าง และทางบริษัทได้รับอะไรกลับไปบ้างขอบอกก่อนเลยว่า Water Journey คือ บอร์ดเกมเพื่อการศึกษาชิ้นแรกของบริษัท จึงมีความท้าทายและสนุกไม่เบา

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จัก ส.นภา กันก่อน หากเอ่ยถึงบริษัทนี้พวกเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้างและบริหารจัดการระบบผลิตน้ำประปา น้ำเพื่ออุตสาหกรรม ระบบน้ำรีไซเคิล ระบบบำบัดน้ำเสีย รวมถึงระบบสระว่ายน้ำ ระบบเครื่องเล่นสวนน้ำ น้ำเพื่อความสวยงาม และระบบเครื่องกรองน้ำดื่มน้ำใช้

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือบริษัทมักจะมีการสื่อสารเรื่องน้ำกับชุมชนอยู่เสมอ โดยอยากให้เข้าใจถึงความสำคัญของน้ำและวัฎจักรน้ำ เมื่อครบรอบ 60 ปีแทนที่บริษัทจะจัดทำเป็นหนังสือ หรือจัดกิจกรรมขึ้นมาเหมือนเช่นเคย ทางบริษัทกลับเลือกบอร์ดเกมเป็นตัวกลางสื่อสารไปถึงเยาวชน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เยาวชนเข้าใจเรื่องน้ำมากยิ่งขึ้น ในฉบับที่สนุกกว่าเดิม

ใช้สื่อบอร์ดเกมเชื่อมโยงความเป็นตัวเองของบริษัทเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายขึ้น

คุณมิ้มเล่าให้ฟังว่าองค์กรมองรากฐานสำคัญของประเทศคือเยาวชน เราจึงอยากจุดประกายให้น้องๆเยาวชนรู้สึกรักทรัพยากรมากยิ่งขึ้น เห็นความสำคัญของการช่วยการดูแลรักษาน้ำ และเข้าใจเกี่ยวกับระบบพัฒนาคุณภาพน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบรีไซเคิล ที่สามารถทำให้น้ำอยู่กับเราได้อย่างยั่งยืนต่อไป เมื่อคนในบ้านเห็นว่าเด็กรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อมผ่านในเรื่องของน้ำ เลยมองว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

จากจุดเริ่มต้นที่เล่าให้ฟัง ส.นภา ยังได้รับการสนับสนุนและคำปรึกษาจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามหลักวิชาการ โดยทีม ส.นภา และ วิศวะ จุฬาฯ มองเห็นว่าบอร์ดเกมเป็นอีกหนึ่งเทรนที่น่าสนใจซึ่งเด็กรุ่นใหม่หันมาเล่นกันมากขึ้น ด้วยความที่คิดว่ามันเป็นสื่อที่น่าจะดึงความสนใจเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถแทรกสาระเข้าไปพร้อมความสนุกได้ ซึ่งคุ้มค่าและเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารความเป็นองค์กรได้อย่างเต็มที่ โดยเนื้อหาที่แทรกจะเป็นสาระ ความรู้ที่เกี่ยวกับน้ำและสิ่งแวดล้อม  ควบคู่กับความสนุกสนาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสื่อรูปแบบใหม่ของการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน  เพราะหากเป็นแค่หนังสือบางครั้งอ่านจบแล้วก็วางลงที่เดิม แต่บอร์ดเกมนั้นสามารถหยิบขึ้นมาเล่นได้ตลอด ชวนคนรอบข้าง หรือคนรู้จักมาเล่นด้วยกันได้ ก็จะเป็นการกระจายความรู้ได้อีกรูปแบบหนึ่ง

ในตอนนั้นองค์กรมีโอกาสได้มารู้จักกับเรา ‘Wizards of Learning’ ทีมเชี่ยวชาญที่มาร่วมออกแบบบอร์ดเกม โดยสามารถเปลี่ยนข้อมูลทางทฤษฎีให้เข้ากับเกมและมีความน่าสนใจได้ อีกทั้งยังช่วยดีไซน์วิธีการเล่น กลไกต่างๆ ของเกม การทำงานของทั้ง 2 องค์กรจึงเริ่มขึ้น และฝั่งของทีม ส.นภา เองก็รู้สึกว่าการทำบอร์ดเกมนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด

หยิบตัวนากผู้เป็นสัญลักษณ์ของแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์เสมอมา

หากใครได้เห็นบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา Water Journey แล้ว มักจะพูดคำว่าน่ารักออกมาพร้อมๆ กัน เพราะจะมีเจ้าตัวนากยืนโพสต์ท่าคอยต้อนรับให้เปิดกล่องอยู่ ซึ่งที่เลือกตัวนากมาเป็นตัวละครหลักในบอร์ดเกมชิ้นนี้นั้น ก็เพราะว่านากเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

กว่าจะออกมาเป็นตัวนาก หรือกลไกในเกมต่างๆ ทีมงานได้แชร์ประสบการณ์การร่วมทำงานกับ Wizards of Learning ซะหน่อย ว่าในช่วงแรกมีการเริ่มคุยกันว่าจะดึงเอาความเชี่ยวชาญของ ส.นภา ในเรื่องของน้ำและระบบบำบัดต่างๆ ตั้งขึ้นมาเป็นเนื้อหาหลักก่อน เมื่อ Wizards ได้รับข้อมูลแล้วจะกลับมาคุยกันอีกครั้งว่าวิเคราะห์เนื้อหาเป็นอย่างไรบ้าง และนำเสนอคอนเซ็ปต์ รวมถึงวิธีการเล่นโดยประมาณ หากพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ
“Wizards of Learning มีหน้าที่ช่วยเปลี่ยนจากเนื้อหาที่ต้องการ ให้ออกมาในรูปแบบของบอร์ดเกม” เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วจะทำการม็อกอัพบอร์ดเกมเสมือนจริง เช่นนำกระดาษมาตัดเป็นรูปทรงต่างๆ และทดลองเล่นกันเลย

ในช่วงที่ทดลองเล่นจะมีทีมอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งดูทั้งเรื่องเนื้อหา ความเหมาะสม ความสนุก เทคนิค เมื่อโอเคแล้วจะเป็นขั้นของการเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ผลิต ซึ่งทีมใช้พลาสติกเหลือใช้จากขวดน้ำ โดยพยายามมองว่าใช้อุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นไม้ หรือว่ากระดาษ

Water Journey บอร์ดเกมชิ้นแรกของบริษัท ที่พอลงมือทำก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

ทาง  ส.นภา ยอมรับว่าปรับแก้ ทดลองเล่นกันจนวินาทีสุดท้าย เพราะอยากให้บอร์ดเกมชิ้นแรกออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด โดยธีมของบอร์ดเกมในภาพรวมนั้นทีม ส.นภา บอกว่าจะมีตัวนากคอยเดินเรื่องอยู่เสมอ ซึ่งอยากให้น้องๆ เห็นว่าทุกกิจกรรมของมนุษย์จะมีกิจกรรมที่ใช้น้ำและในทุกกิจกรรมจะเกิดน้ำเสีย น้องๆ จะได้ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำได้อย่างแท้จริง และต้องช่วยกันบริหารน้ำให้มีความสมดุลและยั่งยืน รวมถึงได้รับรู้เรื่องการรีไซเคิล การบำบัดน้ำเสีย เพราะหากเรามีน้ำจำกัดแบบนี้เราต้องรอให้ถึงฤดูกาลบำบัดน้ำถึงจะมีน้ำกลับมาใช้ใหม่ บางคนมีน้ำเสียอยู่ในมือเยอะๆ อาจจะรู้สึกไม่ดีแล้ว ต้องเร่งบำบัดให้ออกไป

เมื่อวันที่ทางส.นภา เห็นบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา Water Journey ถูกผลิตออกมาเป็นกล่อง ทั้งคู่ยอมรับว่ารู้สึกแฮปปี้ และคนในองค์กรคนอื่นๆ อยากจะลองเล่นบ้าง หากถามว่ายากไหมกับการทำสื่อแบบนี้ ?
ทีม ส.นภาก็ตอบด้วยรอยยิ้มว่า “เราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ มากกว่า การที่เราได้เอาองค์ความรู้ หรือความเป็นตัวตนขององค์กรที่มีในมือไปแทรกอยู่ในบอร์ดเกมนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลย”  แถมยังพร้อมเรียนรู้ไปด้วยกันอีกด้วย เพราะได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งคนคิด คนทำ คนทดลองเล่น ช่วยกันพัฒนามาเยอะมาก สิ่งที่องค์กรอยากสื่อสารถือว่าครบถ้วน คิดว่าผู้เล่นน่าจะชอบและได้รับความรู้ที่เราอยากให้เขาเช่นกัน

 

เมื่อเยาวชน และคุณครู เปิดกล่องเล่น Water Journey เป็นครั้งแรก

ในช่วงที่ก่อนโควิดจะระบาดรอบแรกทางองค์กรได้นำบอร์ดเกมไปจัดเวิร์คชอปให้น้องๆ นักเรียน และอาจารย์ได้ลองเล่น พวกเขาบอกว่า “ชอบ สนุก และอยากเล่นอีก” โดยมีอาจารย์คนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าได้รู้ถึงการบำบัดน้ำเสียมากขึ้นเห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำนั่นเอง ส่วนตัวของนักเรียนก็บอกว่า ตอนที่ปล่อยน้ำเสียไปในแม่น้ำแล้ว และดันจับเจอน้ำเสียซะเอง ความรู้สึกหนึ่งที่รับรู้ได้คือมันมีน้ำเสียเกิดขึ้นในแม่น้ำแล้วจริงๆ ถ้าเจอแล้วต้องบำบัด และในความเป็นจริงในชีวิตเราก็จะเจอแบบนี้เช่นกัน

โดยบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา Water Journey ที่ถูกผลิตออกมาแล้ว และได้มีการแจกนำร่องไปแล้วบางส่วน อีกทั้งยังมีที่อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมแจกให้กับโรงเรียนระดับมัธยมต่างๆ รวมถึงโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมด้วย อีกทั้งจะมีการจัดกิจกรรมเชิญอาจารย์มาร่วมเวิร์คชอป เพื่อที่จะสามารถนำบอร์เกมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบเรียนการสอนหรือกิจกรรมในชุมนุมของโรงเรียนได้ หากอาจารย์หรือคุณครูมีความเข้าใจเนื้อหา จะสามารถถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ต่อได้ด้วยตัวเอง หากกลับไปเล่นกันเองมีลืมไปบ้างก็ไม่เป็นไร ทางองค์กรมีจัดทำ QR Code สำหรับสแกนเข้าไปดูวิดีโอการสอนเล่นได้อีกด้วย

สามารถดูวิธีเล่นเกม Water Journey ได้ link 

ส.นภา ชวนองค์กรอื่นๆ ลองทำบอร์ดเกมเป็นสื่อกลาง

อ่านมาถึงตรงนี้กันแล้ว สำหรับองค์กรอื่นๆ ที่อยากสื่อความเป็นตัวเองผ่านบอร์ดเกมแบบนี้ ทางส.นภา ได้แชร์ว่าเป็นสิ่งดีที่องค์กรแต่ละองค์กรถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์การทำงานหรือการดำเนินธุรกิจ และสามารถแชร์ให้กับบุคคลทั่วไปทราบและเป็นประโยชน์กับสังคมได้ การทำบอร์ดเกมเป็นสื่ออีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจ น่าลงมือทำ และตอบโจทย์องค์กร

หากจะเริ่มลงมือทำองค์กรเองต้องมีการวางแผนมาแล้วว่าอยากจะสื่อสารอะไรออกไป มีข้อมูลอะไรบ้างที่อยากจะแชร์หรือมอบสู่สังคม ที่สำคัญเราต้องมีทีมที่คอยแนะนำในเรื่องออกแบบบอร์ดเกม อย่าง Wizards of Learning ที่เขาสามารถเข้าใจธุรกิจ หรือองค์ความรู้ของเราได้ จากนั้นสามารถไปแปลงให้ออกมาเป็นบอร์ดเกมให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น

 

“เราอาจจะมีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจของเรา แต่ส่วนหนึ่งต้องได้คำแนะนำจากคนที่ออกแบบด้วย
จะทำให้เราสามารถเดินไปสู่ความสำเร็จได้”

ติดต่อกับ Wizards of Learning ได้ที่
โทร 084 140 1212
หรือ Inbox FB : Wizards of Learning 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เบื้องหลังการทำงานในการออกแบบบอร์ดเกม Water Journey

No Comments

Post A Comment