#เปิดกล่อง ส่องประเด็น BOX 10: ก่อนจะเกม

บอร์ดเกมนั้นเริ่มจากความคิดตั้งต้นตามจุดประสงค์อันหลากหลาย และมีปลายทางออกมาเป็นกล่องบรรจุประสบการณ์ที่ถูกออกแบบไว้ ความเปลี่ยนแปลงในระหว่างการเดินทางจากความคิดของผู้คน จนออกมาเป็นชิ้นงานที่มอบประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงนั้นน่ามหัศจรรย์ กว่าจะเป็นบอร์ดเกมหนึ่งกล่องนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทางกันนะ เราพาคุณมาสำรวจกัน

ทีมงาน Wizards of Learning ตกตะกอนประเด็นเกี่ยวกับการออกแบบเกมไว้ 15 ประเด็นด้วยกันสำหรับนิทรรศการที่งาน Thai Board Game Creators ที่ TCDC โดยจับประเด็นจัดแสดงลงในกล่องให้ผู้เข้าชมได้ลองเปิดเล่นสำรวจความสนุกและสาระดู เราจะมาขยายความประเด็นในแต่ละกล่องและเรียบเรียงเป็นบทความย่อยง่ายให้ทุกคนได้อ่านกัน ในบทความนี้เราขอเสนอ “ก่อนจะเกม”

ก่อนจะเกม

ด้วยจุดเริ่มต้นอันเป็นจุดประสงค์ในการทำเกมที่ต่างกัน นักออกแบบแต่ละคนจึงมีแนวทางและวิธีการในการสร้างสรรค์งานที่ไม่เหมือนกัน จากความคิดเริ่มต้น ผ่านกระบวนการหลากหลาย ไปสู่ตัวเกมที่เสร็จสิ้นสำหรับการใช้งานและขยายผลที่ต่างกัน

Wizards of Learning ขอเสนอกระบวนการในการออกแบบที่เราใช้ จากประสบการณ์ 6 ปีในการออกแบบบอร์ดเกมของเรา ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นใหญ่ๆ อันจะขยายความต่อไปในรายละเอียด ประกอบไปด้วย

  • การพัฒนาโจทย์
  • การพัฒนาตัวเกม
  • การผลิตและขยายผล

การพัฒนาโจทย์

ขั้นตอนนี้จะว่าด้วยเรื่องของการจับประเด็นให้ตรงจุดจากความต้องการเบื้องต้นในการเริ่มทำเกม ไปสู่ working brief ที่ใช้งานได้จริง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเป็นการจับแก่น ล็อคเป้าหมายในการออกแบบเกม และวางทิศทางสำหรับการทำงานในขั้นตอนถัดไปได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารเพื่อให้ไม่เกิดความผิดพลาดอันจะทำลายจุดประสงค์ในการสร้างเกมขึ้นมาได้ ขั้นตอนนี้ประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ และ การค้นหาความรู้

1. กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้

เพราะความสนุกมีหลากหลาย และเนื้อหาแต่ละเรื่องมีรูปแบบความสนุกที่เหมาะสมแตกต่างกัน ในความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดของการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความสนุกนั้น นักออกแบบที่ดีจำเป็นต้องสามารถปักธงและร่างกรอบในการทำงานที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องตรวจสอบได้ว่า สิ่งที่เรากำลังทำนั้นตอบโจทย์และตรงตามวัตถุประสงค์ของโปรเจ็คต์หรือไม่ เพื่อให้ได้งานออกแบบที่คุ้มค่ากับเงินลงทุนและเวลา มีคุณภาพสมเหตุสมผล และใช้งานได้จริงนั่นเอง

สำหรับบอร์ดเกมการเรียนรู้ เราขอแนะนำวิธีการที่จะช่วยให้คุณตั้งเป้าหมายได้ตอบโจทย์ นั่นคือการแยกแยะให้ได้ว่าเป้าหมายการเรียนรู้สำหรับเกมนั้นๆของคุณ เป็นเป้าหมายประเภทไหนในโมเดล KPA

(K) Knowledge – นำเสนอความรู้ ที่ได้รับผ่านประสาทสัมผัสแล้วสามารถนำไป ใช้ได้เลย

(P) Practice – เปิดพื้นที่ให้ฝึกฝนทักษะ ที่ต้องลงมือทำก่อนถึงจะเข้าใจได้

(A) Attitude – สร้างทัศนคติ ให้รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

เมื่อเข้าใจความแตกต่างและระบุได้แล้วว่าเป้าหมายการเรียนรู้ของคุณเป็นแบบไหน งานในกระบวนการที่เหลือก็สามารถมีธงเป้าหมายที่ชัดเจนนี้ไว้คอยชี้นำไม่ให้หลงทางได้อย่างดี

2. ค้นหาความรู้

เพื่อจะให้ได้งานออกแบบที่ดี นักออกแบบจำเป็นต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับเป็นวัตถุดิบในการออกแบบ ความรู้ที่จะนำมาใช้งานในการออกแบบบอร์ดเกมนั้นมีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เชิงเนื้อหา ความรู้เกี่ยวกับผู้ใช้งาน และความรู้ในการทำเกม

ความรู้เชิงเนื้อหา – มาจากการทบทวนวรรณกรรม และการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา หนังสือ และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้นๆ

วามรู้เกี่ยวกับผู้ใช้งาน – มาจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรม ความสนใจ และทัศนคติของผู้ใช้งานต่อหัวข้อนั้น ซึ่งอาจได้มาจากการจัด focus group หรือการให้กลุ่มเป้าหมายทำแบบสอบถาม เพื่อนำมาวิเคราะห์หา insight ที่น่าสนใจ อันจะมีผลต่อทิศทางในการตีกรอบของแนวทางการออกแบบ ให้ตอบโจทย์กับวัตถุประสงค์ของโปรเจ็คต์

ความรู้ในการทำเกม – มาจากการค้นคว้าและลองเล่นบอร์ดเกมที่มอบมุมมองน่าสนใจให้กับหัวข้อที่เราทำ โดยอาจเลือกจาก mechanic ที่น่าจะตอบโจทย์เงื่อนไขเฉพาะของโปรเจ็คต์ของเรา หรือมีเนื้อหาใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกับหัวข้อของบอร์ดเกมของเรากำลังจะออกแบบ


การพัฒนาตัวเกม

เมื่อได้โจทย์ที่ตรงจุดประสงค์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาตัวเกมให้สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุดในกรอบเวลาที่ถูกกำหนดมา การพัฒนาในขั้นตอนนี้จะถูกย่อยออกเป็นหลายๆ องค์ประกอบแยกกันไป นั่นก็คือ การทำต้นแบบ ทดสอบและพัฒนาเกม และจบด้วยการออกแบบอุปกรณ์และพัฒนางานศิลป์

1. ทำต้นแบบ

ต้นแบบนั้นสำคัญอย่างมาก เพราะจากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ นักออกแบบมีความคิดมากมายพรั่งพรูอยู่ในหัว แต่ไอเดียนั้นยังเล่นไม่ได้ การทำต้นแบบจึงเป็นจุดที่ไอเดียในหัวเราเริ่มมีร่างทรงในอุปกรณ์สำหรับลองเล่น ทำให้มันจับต้องได้จริง และเริ่มสร้างประสบการณ์ในการเล่นได้

การทำต้นแบบเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการคิดและทดลองไอเดียหลายๆ อย่างในหัว ซึ่งทำให้นักออกแบบได้เห็นการแปลงกลับไปกลับมาของความคิดไปสู่ประสบการณ์เล่นจริงในหลายๆ ความเป็นไปได้ ต้นแบบจึงเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการทดลองคิดทดลองทำเบื้องต้น เพื่อเป็นสารตั้งต้นที่จะถูกปรับเปลี่ยน ขัดเกลา ตัดทิ้ง ตัดแปะ จับผสม และพัฒนาไปสู่การออกแบบประสบการณ์ที่จะตอบโจทย์กับเป้าหมายการเรียนรู้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

2. ทดสอบและพัฒนาเกม

เกมจะดีขึ้นได้มีทางเดียว นั่นคือผ่านการ playtest หลายครั้ง แล้วนำข้อมูลมาปรับปรุงทำต้นแบบใหม่ โดย Wizards ขอเสนอการทดสอบ 3 ระดับ ที่นอกจากจะทำให้เกมสนุกขึ้นแล้วนั้น ยังสามารถใช้เพื่อรักษาแนวทางให้เกมที่ออกแบบยังคงตอบจุดประสงค์การเรียนรู้ และทำให้เกมที่ทำขยับไปข้างหน้าอย่างมั่นคงโดยไม่ต้องกลับไปรื้อทำใหม่ตั้งแต่ต้น

  1. ทดสอบเนื้อหา – เพื่อให้เกมที่ทำเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
  2. ทดสอบการเล่น – เพื่อปรึกษาแนวทางพัฒนาคุณภาพของงานออกแบบ
  3. ทดสอบการใช้งาน – เพื่อยืนยันว่าสามารถใช้งานได้จริง

3. ออกแบบอุปกรณ์ พัฒนางานศิลป์

หลังจากการทำต้นแบบ ทดสอบเล่น และแก้อย่างมากมาย เกมจะค่อยๆ ก่อรูปร่างที่ชัดเจนขึ้นในรูปแบบการเล่น และการสร้างประสบการณ์ที่ตอบโจทย์เป้าหมายของเราโดยไม่ละทิ้งความสนุก เมื่อตัวเกมนิ่งแล้ว ก็ถึงเวลาจัดการออกแบบส่วนประกอบที่จะทำให้การเล่นนั้นสมบูรณ์และทำได้จริง

ในขั้นตอนนี้ จำเป็นต้องมีการรวมพลังการออกแบบหลายแขนง เพื่อทำให้อุปกรณ์ที่เป็นองค์ประกอบของประสบการณ์ที่เราออกแบบนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็น งานภาพ อุปกรณ์ประกอบการเล่นที่หลากหลาย หรือคู่มืออธิบาย โดยจะมีการทำงานร่วมกันกับผู้คนที่รับบทบาทเหล่านี้

  • Graphic Designer
  • Illustrator
  • Product Designer
  • Model Maker
  • Writer

หากเดินทางมาจุดนี้

“ยินดีด้วยตอนนี้คุณได้ต้นแบบบอร์ดเกมของคุณแล้ว”


การผลิตและขยายผล

เมื่อตัวเกมถูกพัฒนามาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลานำผลงานออกมาสู่โลกอย่างเป็นรูปธรรมในขั้นตอนการผลิตชิ้นงาน ไม่เพียงแต่เท่านั้น ถึงแม้ได้เกมออกมาเป็นกล่องแล้ว ผลงานชิ้นนี้ก็ยังจะไม่สามารถถูกส่งไปถึงผู้ใช้งานปลายทางได้ หากไม่ได้รับการพูดถึงและการส่งต่อในหลายๆ ทาง และนำตัวเกมนี้มาจัดกิจกรรมโฆษณา สร้างความเข้าใจ และอธิบาย เพื่อขยายผลให้ส่งไปถึงมือผู้รับเพื่อให้ใช้งานได้ตรงตามจุดประสงค์ให้จงได้ เราขอเอ่ยถึง การผลิตเกม ผลิตสื่อ ส่งต่อบอร์ดเกม และกิจกรรมขยายผลการใช้บอร์ดเกมในขั้นตอนนี้

1. ผลิตเกม

การผลิตเริ่มจากการประสานงานการผลิตกับโรงพิมพ์ เพื่อให้ตัวงานเกมที่เราออบแบบเสร็จสิ้นและจัดเตรียมไฟล์ไว้พร้อมสำหรับการผลิตแล้วนั้น ได้ถูกผลิตออกมาอย่างมีมาตรฐานและใช้งานได้จริง

นี่หมายถึงการคุยกันถึงชนิดของวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการทำแต่ละชิ้นส่วนออกมา การระบุเสปคที่เจาะจงขององค์ประกอบนั้นๆ ในงบประมาณที่ถูกกำหนดไว้ จำนวนกล่องที่ต้องการผลิต และการจัดการประสานงานเวลาในการผลิตให้ออกมาเรียบร้อยทันพร้อมสำหรับการใช้งาน หลายๆ ครั้งในขั้นตอนนี้ผู้ออกแบบจะไม่ได้คุยกับโรงพิมพ์แค่ที่เดียว เนื่องจากอุปกรณ์ที่จะถูกใช้ในกล่องนั้นอาจจำเป็นต้องมาจากหลากหลายที่เนื่องด้วยข้อจำกัดของโรงพิมพ์ งบประมาณ หรือเวลา แต่ปลายทางของขั้นตอนนี้ คือตัวเกมที่ผลิตเสร็จสิ้นมีชิ้นส่วนครบสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการจัดส่งไปถึงมือผู้ใช้งานต่อไป

2. ผลิตสื่อ

สื่อวิดีโอหรืองานประชาสัมพันธ์เป็นตัวช่วยสำคัญในหลายๆ ส่วน สื่อช่วยเพิ่มความรับรู้และสร้างแรงจูงใจ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงบอร์ดเกมของผู้ใช้งานที่มากขึ้น และยังช่วยในการสื่อสารถึงคุณค่าด้านต่างๆ ของบอร์ดเกมให้กว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น วิดีโอสอนเล่นที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการใช้งานเกมและบรรยากาศในการเล่น, คำถามผู้เชี่ยวชาญหลังเล่น ที่จะช่วยขับเน้นประเด็นที่เกมเล่า, คลิปกระบวนการทำเกมเพื่อเป็นความรู้สำหรับผู้สนใจ, และ บทวิเคราะห์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจในเนื้อหา การสื่อสาร และแง่มุมอันแหลมคมที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบ  

3. ส่งต่อบอร์ดเกม

งานการจัดส่งนั้น เป็นสะพานที่จะนำเกมที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานแล้วไปให้ถึงมือผู้ใช้งาน โดยทำได้ผ่านการร่วมงานกับเครือข่ายหลากหลาย เช่น เครือข่ายของโรงเรียน ชมรมบอร์ดเกม หรือร้านค้าผู้จัดจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างไปสำหรับแต่ละโปรเจ็คต์ ข้อสำคัญคือการเลือกประสานงานกับเครือข่ายให้ตรงกับจุดประสงค์ของการใช้งานของผลงานนั้นๆ และสามารถนำเกมไปถึงมือกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับเกมนั้นๆ ได้จริง

4. กิจกรรมขยายผลการใช้บอร์ดเกม

เกมไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวางตั้งไว้บนหิ้ง ดังนั้นในการใช้งานบอร์ดเกมที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อสื่อสารประเด็นที่ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงนั้น การส่งเสริมการใช้งานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากงานออกแบบที่ถูกวางไว้บนชั้นอย่างเดียวจะไม่สามารถทำงานของมันได้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดกิจกรรมเพื่อเปิดพื้นที่ในการใช้งานบอร์ดเกม อันได้แก่

  • กิจกรรมจัดเล่นบอร์ดเกม
  • กิจกรรมถอดบทเรียนจากการเล่นบอร์ดเกม
  • กิจกรรมพัฒนาทักษะการนำบอร์ดเกมไปใช้งาน
  • กิจกรรมพัฒนาทักษะบุคลากร
  • กิจกรรมแข่งขันบอร์ดเกม

กระบวนการที่เต็มไปด้วยความใส่ใจ

แม้จะเริ่มต้นจากความคิดเท่านั้น แต่การเดินทางนำพาความตั้งใจในการสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการมากมายระหว่างทางจนสามารถกลายมาเป็นบอร์ดเกม อันเป็นชิ้นงานออกแบบที่มอบประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างน่ามหัศจรรย์ กระบวนการในการออกแบบบอร์ดเกมนั้นมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และการใช้งานปลายทางที่คาดหวัง แต่นี่คือกระบวนการในการทำงานออกแบบที่เราภูมิใจนำเสนอ โดยกลั่นมาจากประสบการณ์ยาวนานของเรา เพื่อให้บอร์ดเกมแต่ละกล่องนั้นตอบโจทย์จุดประสงค์ ใช้งานได้จริง และถูกผลิตอย่างมีคุณภาพในราคาและเวลาที่กำหนด

หากยังอ่านไม่จุใจ สามารถติดตามอ่าน #เปิดกล่อง ส่องประเด็น จากในโพสต่างๆ จากหน้าเว็บ Wizards of Learning ยังมีเนื้อหาด้านอื่นๆ ที่สำคัญในการออกแบบบอร์ดเกมรอให้คุณไปเปิดกล่องส่องประเด็นกัน และหากคุณมีความคิดเห็นหรือข้อสงสัย เกี่ยวกับกระบวนการในการออกแบบเพิ่มเติม สามารถแชร์ไว้ส่วนคอมเมนต์กันได้เลย

No Comments

Post A Comment