#เปิดกล่อง ส่องประเด็น BOX 9: คนจบ เกมไม่จบ

ในการออกแบบสื่ออย่างเช่นบอร์ดเกมที่เสนอความคิดและข้อมูลบางอย่างต่อโลกนั้น แม้เมื่อเราทำงานจนเสร็จสิ้นกระบวนการออกแบบและผลิตผลงานออกมาเรียบร้อยแล้ว ผลงานที่พ้นมือของนักออกแบบมา จะยังคงมีชีวิตต่อเป็นของมันเองและทำงานสื่อสารตราบเท่าที่ยังถูกใช้งานอยู่ ชีวิตของเกมหลังออกแบบเสร็จนั้นเป็นการที่เกมปฏิสัมพันธ์กับโลก ซึ่งเป็นส่วนที่นักออกแบบเฝ้าฝันจะเห็นตลอดการทำงานออกแบบ เราจึงพาคุณมาสำรวจว่า แม้เมื่อคนจบจากการทำเกมแล้วนั้น เกมไม่จบยังไง

ทีมงาน Wizards of Learning ตกตะกอนประเด็นเกี่ยวกับการออกแบบเกมไว้ 15 ประเด็นด้วยกันสำหรับนิทรรศการที่งาน Thai Board Game Creators ที่ TCDC โดยจับประเด็นจัดแสดงลงในกล่องให้ผู้เข้าชมได้ลองเปิดเล่นสำรวจความสนุกและสาระดู เราจะมาขยายความประเด็นในแต่ละกล่องและเรียบเรียงเป็นบทความย่อยง่ายให้ทุกคนได้อ่านกัน ในบทความนี้เราขอเสนอ “คนจบ เกมไม่จบ”

เกมเสร็จแล้วไปไหน?

เกมเมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อยนั้น สามารถถูกส่งต่อไปใช้งานได้ในหลายสถานที่และโอกาสเพื่อขยายผลจากการใช้งานที่ต่างกัน :

  • ที่ร้านค้า เกมจะกระจายความสนุกไปสู่มือผู้คนมากมายหลากหลาย
  • เมื่อถึงบ้าน เกมจะช่วยเปิดโลกประสบการณ์ active learning
  • เกมอาจถูกใช้ในโรงเรียนเพื่อเป็นเครื่องมือการเรียนรู้
  • ในการจัดกิจกรรมเวิร์คชอป เกมอาจถูกหยิบยกมาเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์การจัดอบรมเล่นเรียนรู้
  • ในมือหน่วยงาน เกมสามารถทำหน้าที่เผยแผ่ข้อมูลสำคัญที่สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงาน
  • สำหรับองค์กรและบริษัท เกมยังมีศักยภาพในการใช้สื่อสารคุณค่า CSR ได้อีกด้วย

เราขอขยายความโดยการยกตัวอย่างผลงานเกมที่เราออกแบบและผลิตเพื่อให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

อบรมและจัดกิจกรรม

เกมสามารถเป็นสื่อการเรียนรู้ซึ่งมอบประสบการณ์ที่มีมิติมากกว่าการอ่านหรือการฟังบรรยาย เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสัมผัสประสบการณ์ที่ได้เลือกและตัดสินใจในสภาวะจำลองของเกมเพื่อเข้าใจถึงสิทธิ์และพลังเสียงในการเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน โดยการอบรมและการจัดกิจกรรมนั้น นอกจากจะสามารถจัดสำหรับนักเรียนเพื่อเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องมือที่ทำงานได้ดีในการเปิดประสบการณ์สำหรับบุคคลทั่วไป, หน่วยงาน, และภาครัฐ ในการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญยิ่งนี้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จัดการแข่งขัน

เกมสามารถถูกใช้ในการจัดการแข่งขันในลักษณะเดียวกันกับการแข่งกีฬา โดยผู้เล่นจะได้ประชันทักษะที่ถูกออกแบบไว้ในเกมเพื่อเฟ้นหาความเป็นเลิศ ดังเช่นงานจัดแข่งเกม Water Plearn Journey โดยส. นภา ในเครือ SN Group ซึ่งนำเกม Water Journey ขององค์กรมาใช้ประกอบในการแข่งขัน นอกจากจะสอดรับกับพันธกิจของผู้จัดแล้ว ยังนับเป็นการแข่งขันทักษะอีกแบบที่ส่งเสริมคุณค่าของการตระหนักรู้เรื่องการจัดการน้ำและความสำคัญของทรัพยากรที่มีค่านี้ ทั้งยังเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ผู้แข่งขันได้แสดงความสามารถและศักยภาพในการใช้กลยุทธ์และความเข้าใจในเนื้อหา อันเป็น soft skill ที่มีประโยชน์ และส่งเสริมประสบการณ์ในสนามแข่งที่น่าสนับสนุนสำหรับเยาวชน

water journey

สร้างแนวร่วมเพื่อการขยายผลได้กว้างไกล

การ์ดพลังป้องกันเด็ก เป็นบอร์ดเกมที่ Wizards of Learning ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบกับครูน้อย มูลนิธิ HHN ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้และช่วยป้องกันการลักพาตัวเด็ก ผ่านการจำลองสถานการณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะผ่านตัวเกม อันจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันและเครื่องมือในการใช้งานได้จริงหากต้องพบกับสถานการณ์นี้ในชีวิต โดยตัวเกมมีการนำร่องใช้งานในรูปแบบการจัดกิจกรรมภายในจังหวัดชลบุรี ซึ่งให้ผลตอบรับในการใช้งานที่ยอดเยี่ยม

แต่แรงกระเพื่อมไม่ได้จบอยู่แค่นั้น กิจกรรมนำโดยบอร์ดเกมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและตอบโจทย์ใช้งานได้จริงนี้ ยังสามารถดึงดูดแนวร่วมหน่วยงานที่สนับสนุนคุณค่านี้นี้มาร่วมแรง โครงการสื่อสร้างสรรค์ที่มีพันธกิจในการผลักดันสื่อที่มีประโยชน์ต่อสังคมได้ร่วมสนับสนุนการใช้งานของเกมนี้ เกิดเป็นการร่วมมือซึ่งนำไปสู่การจัดกิจกรรมที่ถูกขยายผลไปในระดับประเทศในที่สุด

ตัวแทนประเด็นสำคัญ

บอร์ดเกมบางเกมที่หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสามารถกลายเป็นตัวแทนของประเด็นนั้น ๆ ในการสร้างความตระหนักรู้ได้ ดังเช่นเกม 3rd World Labour: Pandemic Edition ออกแบบโดย Lunar Gravity ที่เชิญชวนผู้เล่นมาสัมผัสประสบการณ์ของการเป็นแรงงานก่อสร้างในประเทศกำลังพัฒนา หาเช้ากินค่ำท่ามกลางต้นทุนชีวิตอันน้อยนิด และยังต้องฝ่าฟันความเสี่ยงในยุคโควิดระบาด ได้กลายเป็นตัวแทนที่สำคัญในการบอกเล่าถึงประเด็นนี้ไปโดยปริยาย

อีกหนึ่งตัวอย่างคือเกม Local Election ที่เป็นพื้นที่ให้ผู้เล่นได้เรียนรู้กระบวนการที่ทรงพลังของการเลือกตั้ง และสัมผัสความหวังของการใช้สิทธิ์เสียงในการเลือกตั้ง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดได้อย่างชัดเจน จนได้รับการหยิบยกโดย TPBS ไปเป็นเกมที่เป็นตัวแทนประเด็นซึ่งถูกใช้ประกอบในการนำเสนอข่าวที่สร้างความตระหนักรู้เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น

นอกจากนี้ บางประเด็นที่เกมเลือกกล่าวถึงนั้นยังมีศักยภาพทางความคิดข้ามเขตแดนประเทศ อย่าง Water Journey ที่เล่าถึงการจัดการน้ำและการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทยแล้ว ยังเป็นที่สนใจในประเทศเกาะอย่างสิงคโปร์และไต้หวันอีกด้วย เกมได้รับความสนใจ และการตอบรับอย่างดีในฐานะตัวแทนที่เล่าถึงประเด็นสำคัญอันควรค่าแก่ความสนใจของสังคมข้ามพรมแดนกันเลยทีเดียว

คนจบ เกมไม่จบ

แน่นอนว่าขั้นตอนการออกแบบนั้นไม่ง่าย และใช้ความร่วมมือของผู้คนมากมายในการทำให้สำเร็จ แต่เรื่องราวของบอร์ดเกมไม่ได้จบลงเมื่องานเสร็จเท่านั้น ชีวิตของเกมหลังการออกแบบและการผลิตสิ้นสุดลงแล้วนั้นยังคงดำเนินต่อไป และการสื่อสารความคิดและความสนุกที่ถูกบรรจุลงด้วยความใส่ใจผ่านความร่วมมือจากทีมงานทุกคน จะยังคงทำงานผ่านการใช้งานเกมแต่ละครั้ง เช่นนี้ เราจึงส่งเกมแต่กล่องที่ได้รับการออกแบบอย่างดีไปสู่ชีวิตหลังงานผลิตของมัน และเฝ้ามองการเดินทางที่ยังดำเนินไปได้ด้วยความยินดี

หากสนใจเพิ่มเติม สามารถติดตามอ่าน #เปิดกล่อง ส่องประเด็น จากในโพสต่าง ๆ จากหน้าเว็บ Wizards of Learning ยังมีเนื้อหาด้านอื่น ๆ ที่สำคัญในการออกแบบบอร์ดเกมรอให้คุณไปเปิดกล่องส่องประเด็นกัน และหากคุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายผลการใช้งานบอร์ดเกมในแบบอื่น ๆ เพิ่มเติม สามารถแชร์ไว้ส่วนคอมเมนต์กันได้เลย

No Comments

Post A Comment