อยากจะ SHARE! EP.0 กว่าจะเป็นบอร์ดเกม

EP.0 กว่าจะเป็นบอร์ดเกม

สำหรับคนที่เคยออกแบบบอร์ดเกมมาแล้ว หรือคนที่กำลังคิดจะทำ เคยสงสัยกันไหมว่า ขั้นตอนการออกแบบของเราต่างจากคนอื่นยังไงบ้าง มีเครื่องมืออะไรที่ช่วยให้การออกแบบเป็นเรื่องง่ายขึ้นไหม หลังจากที่เราได้ฝึกงานที่ Wizards of Learning เป็นเวลา 3 เดือน ก็ทำให้เราได้เรียนรู้มุมมองการออกแบบบอร์ดเกมมากขึ้น จึงอยากแชร์เรื่องนี้ให้ทุกคนอ่านกันว่า เรามีขั้นตอนในการออกแบบยังไง และใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการออกแบบ จะเหมือนหรือต่างกับทุกคนไหม

ใน EP.0 นี้ เราจะมาพูดถึงกระบวนการในการออกแบบกันก่อนเลยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ แล้วแต่ความชอบและความถนัดของแต่ละคน สำหรับเราแล้ว ขั้นตอนการออกแบบจะมีดังนี้

 

1.Problem

เริ่มจากการกำหนดโจทย์ในการทำ อาจมาจากการตั้งขึ้นมาเอง มาจากการสังเกต หรือความสงสัย มาจากปัญหาที่พบ หรือแม้แต่บรีฟจากลูกค้าเอง จากนั้นก็ทำความเข้าใจกับมัน ปัญหาเป็นยังไง ต้องการบอกอะไร หรือเป็นไปในทิศทางไหน

2.Observe

ค้นหาข้อมูลของเรื่องที่จะทำ สำรวจกลุ่มคน พฤติกรรม ความชอบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะผู้เล่นเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบเลยทีเดียว แม้เราออกแบบบอร์ดเกมที่สวยมาก แต่ไม่ตรงจริตผู้เล่นมันก็ไม่มีความหมาย

3.Aim & Point

กำหนดกรอบเป้าหมายของงาน ควรเริ่มจากตรงไหน และปลายทางจะเป็นยังไง ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นแบบไหน เพื่อให้เรารู้ขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน สามารถวางแผนงานได้ถูกต้อง

4.Ideate

ระดมความคิดหาไอเดียตามจุดมุ่งหมายที่เราวางไว้ ทั้งเรื่องของตัวเกม งานอาร์ต การเล่าเรื่อง และองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งไอเดียที่เราคิด ควรคิดไว้หลาย ๆแบบ ไม่ใช่คิดแค่แบบใดแบบหนึ่ง ไม่งั้นเราจะไม่รู้ว่าแบบที่คิดไว้มันดีจริงไหม เพราะไม่มีข้อเปรียบเทียบ ทำให้เป็นการจำกัดความคิดไว้ที่รูปแบบเดิม ๆ

5.Prototype

การทำตัวอย่างผลงานเพื่อนำไปทดลองเล่น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำบอร์ดเกมสักเกม ถ้าเรามีแค่ไอเดีย แต่ไม่มีผลงานให้ลองเล่นก็จะไม่รู้ว่าไอเดียที่คิดไว้มันโอเคไหม สามารถทำจริงได้หรือเปล่า ในการทำ เราควรเริ่มจากการทำตัวอย่างง่ายๆ ให้พอเล่นได้ ให้เห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยปรับพัฒนาเรื่อยๆ จนเป็นงานที่สมบูรณ์

6.Test

ทดลองเล่นจริงก็เป็นสิ่งสำคัญอีกขั้นหนึ่ง ถ้าเรามีแค่ตัวงาน แต่ไม่เคยลองเล่นจริงจะรู้ได้ยังไงว่ามันดีแล้ว นอกจากทดลองด้วยตัวเองแล้วก็ต้องนำไปทดลองกับคนอื่นด้วย อย่าคิดเองเออเอง เพราะบางทีสิ่งที่เราคิดว่ามันดีแล้ว มันอาจจะมีปัญหาอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ก็ได้

7.Reflect

สรุปผลลัพธ์จากการทำงาน จะช่วยให้เห็นภาพรวมของงาน ปัญหาที่เกิดขึ้น และวิธีในการแก้ปัญหา เห็นว่าในการทำงานครั้งนี้มีสิ่งไหนที่ดี สามารถนำไปใช้ต่อได้ หรือมีสิ่งไหนบ้างที่ควรปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

 

นอกจากกระบวนการในการทำแล้วยังมีอะไรอีก?

การที่เรารู้กระบวนการในการทำ ทำให้เราเห็นขั้นตอนรวม ๆ ของการทำเกมแล้ว แต่ในขั้นตอนแต่ละขั้นนั้น เราไม่ได้ทำเพียงคนเดียว จะต้องมีการพูดคุยกับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ เพื่อหาไอเดีย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อให้ได้รายละเอียดที่มากขึ้น และสามารถไปใช้จริงได้ ซึ่งการจะได้ข้อมูลแต่ละอย่างนั้นต้องใช้เวลา และมีความซับซ้อน แต่เราสามารถทำให้มันง่ายขึ้นได้ หากเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า “Toolbox”

Toolbox เป็นเครื่องมือที่มาช่วยในการคิด ทำให้เราสามารถลำดับความคิดได้ดีขึ้น ช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ร่วมงาน เพื่อหาผลลัพธ์ และข้อสรุปที่มีประสิทธิภาพ สามารถไปใช้จริงได้ แล้ว Toolbox ที่ว่ามามีอะไรบ้าง เราจะมาคุยกันต่อใน EP. ถัดไปค่ะ

 

ข้อมูลที่นำมาแชร์นี้ มีแหล่งอ้างอิงมาจาก :

Michael Lewrick, Patrick Link, Larry Leifer. (2020). The Design Thinking Toolbox. New Jersey: John Wiley & Sons, Inc.

 

เรื่องและภาพประกอบ: บุณยวีร์ พฤกษาเกษมสุข

No Comments

Post A Comment