![](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/Setcollection-1.jpg)
29 ม.ค. #ก่อนจะเกม Ep.2: Set Collection – เกมจัดเซ็ต เก็บให้ได้ครบ … จบที่เป็นชุด
ก่อนจะเกม เนื้อหาเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นออกแบบบอร์ดเกม โดย Wizards of Learning
- Set Collection เป็นกลไกเกมที่ให้ผู้เล่นสะสมบางสิ่งให้เป็นชุดตามที่กำหนดให้
- ความสนุกเกิดจากการเก็บเซ็ตได้เซ็ตใหญ่ๆ ทำคอมโบได้ต่อเนื่อง หรือตัดสินใจจัดเก็บได้คุ้มค่าที่สุด
- เป็นกลไกท่ีพลิกแพลง และผสมเข้ากับเกมได้หลายประเภท
คุณมีของสะสมอะไรบ้างไหม ? แสตมป์, หุ่นโมเดล, เหรียญเงิน, โปสการ์ด, หรือว่าสะสมเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าผ้าใบ ใครมีกำลังหน่อยก็อาจจะสะสมรถ สะสมเครื่องประดับ หรือถ้าไม่ซื้ออะไรเลยคุณก็อาจจะสะสมเงิน (สำเร็จบ้างไหม ?) การสะสมสร้างความความรู้สึกร่วมให้กับเราในหลายด้าน อาจจะเป็นความสุขจากการได้ครอบครองสิ่งที่ชื่นชอบ ความรู้สึกท้าทายในการหาสิ่งที่หามาได้ยาก หรือความรู้สึกเติมเต็มเมื่อสามารถเก็บได้ครบชุด ในเมื่อมันสามารถทำให้เรารู้สึกร่วมได้ดี ทำไมเราจะไม่เอามันมาใช้ทำเกมกันล่ะ ?
กลไกของเกมที่เราจะมารู้จักกันวันนี้ชื่อว่า Set Collection คือ เกมที่ให้รางวัลกับผู้เล่นสำหรับการสะสม set (ชุด) ของบางสิ่ง (โดยส่วนใหญ่จะเป็นไพ่) ในรูปแบบต่างๆ ที่เกมกำหนดให้ เช่น เหมือนกันเป็นชุด ต่างกันหมดเลย เรียงตามลำดับเลข จับกลุ่มกับไพ่เฉพาะ ฯลฯ หรืออาจจะกลับกันโดยการพยายามสะสมไม่ให้เกิดรูปแบบที่เกมกำหนดไว้ เช่น เมื่อเก็บไพ่เหมือนได้ 2 ใบจะได้คะแนนสูง แต่เมื่อเกิน 3 ใบจะเสียแต้ม เป็นต้น ความสนุกของเกมแนวนี้จะเกิดจากการเก็บเซ็ตได้เซ็ตใหญ่ๆ ทำคอมโบได้ต่อเนื่อง หรือตัดสินใจจัดเก็บได้คุ้มค่าที่สุด
ประวัติศาสตร์ของเกมแบบ Set Collection
เกมแบบ Set Collection ที่เก่าแก่ที่สุดเกมหนึ่ง คือเกม Mahjong หรือที่คนไทยเรียกกันชินปากว่า “ไพ่นกกระจอก” เกิดขึ้นที่เมืองจีน ว่ากันว่าเกิดขึ้นมานานกว่า 2,500 ปี แต่ร่องรอยบันทึกที่พิสูจน์ได้อยู่ในช่วงปลายศตวรรตที่ 18 โดยได้รับความนิยมมากจนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศ และเมื่อแพร่กระจายไปสู่โลกตะวันตก ไพ่นกกระจอกก็แปลงร่างไปอยู่ในรูปแบบเกมไพ่ นั่นคือไพ่รัมมี่ ซึ่งมีหลายประเภท แต่ประเภทที่คุ้นเคยที่สุดสำหรับผู้เล่นชาวไทยก็คือ gin rummy หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ไพ่ดัมมี่ นั่นเอง
กลไกที่พลิกแพลงได้หลากหลาย
กลไกแบบ Set Collection เป็นหนึ่งในกลไกที่มีช่องว่างของความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง โดยสามารถพลิกแพลง และผสมเข้ากับเกมได้หลากหลายประเภทมาก ๆ เช่น ใช้ในการได้คะแนนพิเศษแบบในเกม Splendor หรือใช้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการชนะแบบในเกม 7 Wonders เป็นต้น หรืออาจจะพลิกแพลงกลไกของการสะสม เช่น อิงกลุ่ม-เก็บให้ได้เยอะ/น้อยที่สุดในเกม , สะสมแบบเปิด- ทุกคนมองเห็นสิ่งที่คนอื่นกำลังสะสม ทำให้คำนวณการสะสมเพื่อรับมือซึ่งกันและกันได้, หรือมีไพ่ความสามารถพิเศษที่สามารถเปลี่ยนผลของการสะสมหรือวิธีสะสมในเกมได้ เป็นต้น
คำอธิบายอย่างเดียวอาจจะทำให้ภาพได้ไม่ชัด เพราะฉะนั้นเราลองมาทำเกมแบบ Set Collection เล่นกันดีกว่า !
![เกมฟรี set collection](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/setcollectiongametest-01-2.jpg)
![เกมฟรี set collection](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/setcollectiongametest-02-2.jpg)
แจกเกมฟรี ! สามารถดาวน์โหลดไปทดลองเล่นได้เลย
เกมนี้เล่นได้มากสุด 3 คน ใช้กระดาษ A4 2 แผ่น พับเป็น 9 ส่วนแล้วตัด เราจะได้การ์ดทั้งหมด 18 ใบ วาดสัญลักษณ์อะไรก็ได้ที่ดูแตกต่างกันชัดเจน 6 แบบในการ์ดแต่ละใบ สัญลักษณ์ละ 3 ใบ จะใช้รูปทรงเรขาคณิต ใช้สี หรือไล่ A-F, 1-6, ก-ฉ ก็ได้ (หรือดาวน์โหลดไฟล์การ์ดไปปริ้นท์ได้ที่) สับการ์ดทั้งหมด แจกคนละหนึ่งใบ ที่เหลือคว่ำไว้เป็นกองกลาง ทีนี้ก็เริ่มเล่นได้เลย
วิธีเล่นก็คือ ในแต่ละตา ผู้เล่นแต่ละคนจะหยิบการ์ดขึ้นมาสองใบ แล้วหงายทิ้งลงไปหนึ่งใบ โดยจะเลือกหยิบจากกองกลางหรือใบที่หงายอยู่ใบไหนก็ได้ เกมจะจบหลังจากทิ้งการ์ดใบสุดท้าย แล้วในมือทุกคนมีการ์ดคนละห้าใบเท่ากัน เสร็จแล้วก็จะเปิดไพ่เพื่อคิดคะแนน
– ถ้ามีการ์ดที่เป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน 2 ใบ ได้คู่ละ 2 คะแนน
– ถ้ามีการ์ดที่เป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน 3 ใบ ได้ 4 คะแนน
– ถ้ามีการ์ดที่เป็นสัญลักษณ์ไม่เหมือนกัน 5 ใบ ได้ 5 คะแนน
เมื่อคิดคะแนนเสร็จแล้วก็เริ่มเล่นตาถัดไป ใครคะแนนถึง 14 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะ เกมนี้จะสร้างทางเลือกให้ผู้เล่นคิดและบริหารความเสี่ยงว่า ทั้งหมด 5 ใบ จะเลือกทำเซ็ต 5 ใบไม่เหมือนกัน ที่ได้ 5 แต้ม หรือเซ็ต 2 ใบเหมือนกัน + 3 ใบเหมือนกัน ที่ได้ 6 แต้ม แต่ทำยากกว่านิดหน่อย แต่ถ้าเก็บไปแล้วไม่สามารถทำได้ อาจจะต้องลดไปเหลือ 2-4 แต้มได้ ความรู้สึกสนุกก็จะไปอยู่กับการลุ้นว่าจะทำเซ็ตที่ตัดสินใจไว้ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่
10 อันดับเกมแบบ Set Collection ที่แนะนำ
สำหรับกลไก Set Collection นี้ เราก็มี 10 อันดับเกมที่ใช้กลไก Set Collection ได้อย่างน่าสนใจมาแนะนำกัน ใครสนใจเกมไหนกันบ้าง ? (จัดอันดับโดย Jamey Stegmaier จาก Stonemaier Games)
10. Above and below
![Image result for board game above and below](https://meeplestreetblog.files.wordpress.com/2018/04/mvimg_20180306_185400-e1525051869752.jpg?w=982)
9. Bonanza
![Image result for board game bonanza](https://fw.lnwfile.com/1fu8bj.jpg)
8. point salad
![Image result for board game point salad](https://www.ultraboardgames.com/point-salad/gfx/components.jpg)
7. Archaelogy
![Image result for archaeology board game](https://www.upstart.net.au/wp-content/uploads/2014/01/atcgcontents.jpg)
6. Bunny Kingdom
5. Sushi Go
![](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/image.jpeg)
4. Sundae Split
![](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/image-1.jpeg)
3. 7 wonders
2. Fantasy Realms
![](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/image-2.jpeg)
1. Ra
![](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/image-3.jpeg)
เกมอื่นๆ ที่ทางเราแนะนำ
Splendor
![Image result for splendor board game](https://www.littlekrakenboardgame.com/wp-content/uploads/2019/02/Splendor-Board-Game-Components.jpg)
Lost Cities
Pandemic
![](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2020/01/image-4.jpeg)
และสุดท้าย เกม Pizza Master ของเราก็เป็นเกม Set Collection ด้วยเหมือนกันนะ
![Image result for pizza master board game](https://wizardsoflearning.com/wp-content/uploads/2017/08/playsetbox.png)
No Comments