อยากจะSHARE! EP.1 Toolbox?

EP.1 Toolbox?

จาก EP.0 เราได้รู้กระบวนการในการทำบอร์ดเกมไปแล้ว ใน EP.1 นี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ Toolbox กัน เราคิดว่าทุกคนคงเคยใช้ Toolbox บางตัวมาแล้ว แต่อาจจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เราใช้มันเรียกรวมๆ ว่า Toolbox หรือบางคนอาจจะรู้จัก แต่ไม่รู้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ จะมาช่วยในการออกแบบบอร์ดเกมยังไง

ความจริงแล้ว Toolbox ก็มีความหมายตรงตามชื่อเลย คือ เป็นกล่องเครื่องมือที่ภายในจะเก็บเครื่องมือหลาย ๆ อย่างเอาไว้ กล่องของแต่ละคนก็จะเก็บเครื่องมือที่อาจจะเหมือนกัน หรือแตกต่างกันไว้ แล้วแต่ความชอบและสไตล์การทำงานของแต่ละคน ใน EP. นี้ เราเลยจะมาแชร์ Toolbox ที่เราชอบ และเหมาะกับสไตล์การออกแบบบอร์ดเกมสำหรับเราว่ามีอะไรบ้าง

 

My Toolbox มีอะไรบ้าง?

จากรูปก็จะเป็น Toolbox ที่เราใช้ในการออกแบบบอร์ดเกมในแต่ละขั้นตอน บางคนอาจจะรู้จักบางเครื่องมือ คุ้น ๆชื่อ หรือบางคนอาจจะไม่รู้จักเลย เราจะมาแชร์ว่าแต่ละเครื่องมือคืออะไร แล้วจะนำไปใช้กับการออกแบบเกมยังไงได้บ้าง

 

Toolbox ที่ใช้ในแต่ละขั้นตอน

1.Problem

Design brief

เป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างลูกค้าถึงนักออกแบบ หรือนักออกแบบตั้งขึ้นเอง เป็นเหมือนโจทย์ที่เรานำมาใช้ในการทำ รวมทั้งยังช่วยเช็คได้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายตรงกับโจทย์ไหม สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนเลย คือ

          …ข้อมูลพื้นฐานของตลาดบอร์ดเกม ตอนนี้มีแนวโน้มเป็นยังไง

          …เกมที่จะทำเป็นแบบไหน

          …กลุ่มเป้าหมายต้องการอะไรบ้าง

          …ทำแล้วสามารถไปใช้ต่อได้หรือเปล่า

เมื่อเรามีข้อมูลตรงนี้ จะทำให้เราสามารถทำขั้นตอนต่อ ๆไปได้ง่ายขึ้น

 

Design principle

เป็นหลักในการออกแบบที่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถรับรู้และจำแนกข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว เทียบง่ายๆ ก็คือ UX/UI ดีๆ นี่เอง ยกตัวอย่าง เช่น การที่เรานำของที่หน้าตาคล้ายๆ กันมาวางไว้ใกล้กัน เราจะจัดการกับมันยังไงได้บ้าง

          …แยกด้วยความต่างของสี ขนาด หรือรูปทรงไหม

          …ของที่เหมือนกัน ให้จัดรูปแบบการวางซ้ำกันดีไหม เพื่อให้ผู้เล่นไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ เวลาเจอสิ่งที่คล้ายๆ กัน

          …ตำแหน่งการจัดวางจะเป็นยังไง เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ สบายตา และมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันได้

          …การจัดวางองค์ประกอบจะเป็นแบบไหน อะไรที่เหมือนกันก็ให้อยู่กลุ่มเดียวกัน

เมื่อเราเข้าใจหลักการพวกนี้แล้ว เราจะออกแบบบอร์ดเกมให้ผู้เล่นสามารถเข้าใจ และใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น จะออกแบบบอร์ดผู้เล่น ก็จัดข้อมูลที่เหมือนๆ กันเป็นกลุ่ม ใช้สัญลักษณ์บางอย่างแทนสิ่งที่เหมือนกัน

 

Explorative interview

บางทีการที่เราโฟกัสแค่ตัวผลงานมันไม่เพียงพอ เราจะต้องออกจากการคิด เพื่อไปสังเกตผู้คน พฤติกรรม อารมณ์ ความต้องการ หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเขา ลองตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น แล้วลองคิดตาม จะช่วยให้เราเข้าใจผู้คนมากขึ้น และสามารถออกแบบสิ่งที่ตอบโจทย์เขาได้ดีขึ้น

เช่น ทำไมคนนั้นชอบเล่นเกมแนวนี้ เพราะสนุก? เพราะได้วางแผน? หรือทำไมผู้หญิงชอบเล่นเกมแนวนี้ เพราะชอบสตอรี่ของเกม? องค์ประกอบในงานสวย?

 

Jobs to be done

 

                “จริงๆ แล้ว คนทั่วไปไม่ได้ซื้อสว่าน เพราะเขาอยากได้สว่าน แต่เขาอยากได้รูต่างหาก”  Theodore Levitt (นักเศรษฐศาสตร์และอดีตอาจารย์ที่ HBS) กล่าวไว้

 

จากคำกล่าวนี้ คนที่ซื้อสว่านไม่ได้อยากได้ตัวสว่านแต่อยากได้รู แล้วทำไมเขาถึงอยากได้รู อะไรคือสิ่งที่ต้องการหลังจากได้รู? เพื่อไว้ทำที่แขวน? ไว้ต่อบางอย่าง? การไล่ถามและสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้ จะช่วยให้เราทำสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ตรงจุดมากขึ้น โดยในการคิดเราจะใช้รูปแบบคำถาม ดังนี้

 

When……………………….                 I want to…………………………                            So I can……………………..

เมื่อถ่ายรูปจากกล้องโทรศัพท์          ต้องการโปรแกรมที่แต่งรูปที่สะดวกรวดเร็ว          ไว้โพสรูปสวย ๆลงไอจีได้เลย

 

การออกแบบบอร์ดเกมก็เหมือนกัน ถ้าเราลองตั้งคำถามว่า คนจะซื้อบอร์ดเกมเพื่อให้ได้อะไรจากมัน? เพื่อความสนุกอย่างเดียว? เพื่อใช้เวลาร่วมกับคนอื่น? เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่? มันจะทำให้เรารู้ว่าควรออกแบบเกมยังไงให้ตรงกับความต้องการและเป้าหมายเหล่านี้

 

ก็จบไปแล้วสำหรับ EP.1 ซึ่งเป็น Toolbox ทั้งหมดที่เรานำมาใช้ในการออกแบบบอร์ดเกมในขั้นตอนแรก หรือขั้นกำหนดปัญหาและทำความเข้าใจ จะเห็นได้ว่าเครื่องมือส่วนใหญ่ที่ใช้ในขั้นตอนนี้ จะเน้นการตั้งคำถามให้เราได้ลองคิด และทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนใน EP. ต่อไป เราจะมาแชร์ Toolbox ที่ใช้ในการ observe และ กำหนดกรอบเป้าหมายให้อ่านกันค่ะ

 

ข้อมูลที่นำมาแชร์นี้ มีแหล่งอ้างอิงมาจาก :

Michael Lewrick, Patrick Link, Larry Leifer. (2020). The Design Thinking Toolbox. New Jersey: John Wiley & Sons, Inc.

Tao. Principle Design คือ อะไร ทำไม UX/UI Designer ต้องทำตาม. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2564, จาก https://blog.clicknext.com/principle-design/

Niran Banleurat. (2019, Aug 28). ทฤษฎี Jobs-to-be-Done คืออะไร?. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2564, จาก https://medium.com/the-knowledge-spiral/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5-jobs-to-be-done-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-4ac9bea92a20

 

เรื่องและภาพประกอบ: บุณยวีร์ พฤกษาเกษมสุข

No Comments

Post A Comment